จากบทความเรื่องการดูแลเครื่องประดับเงิน เราได้พูดถึงประโยชน์ของการชุบโรเดียมไปบ้างแล้ว ว่าเป็นการช่วยให้เครื่องประดับเงินไม่ดำคล้ำ และช่วยให้มีความแวววาวเงางามได้นาน แต่ก็มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเครื่องประดับที่ชุบโรเดียม วันนี้ขออธิบายให้เคลียร์กันไปเลยนะคะ
ก่อนอื่นอยากให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลหะ 2 ชนิดนี้ก่อน
1. โรเดียม (Rhodium) เป็นโลหะทรานซิชั่นชนิดหนึ่ง มีสีขาวเงิน เป็นแร่หายากในกลุ่มของแพลตทินั่ม โรเดียมมีราคาแพง (ประมาณ 24,500 USD/kg – ข้อมูลปี 2015) และมีความอ่อนตัวสูง ทำให้ไม่สามารถขึ้นรูปเป็นตัวเรือนได้ แต่ด้วยคุณลักษณะที่มีความขาวแวววาว จึงถูกนำมาใช้เป็นน้ำยาชุบเคลือบไฟฟ้าบนโลหะชนิดต่างๆ ทั้งโลหะ เงิน ทองเหลือง ดีบุก หรือแม้แต่งานทอง (Gold) หรือทองขาว (White Gold) ก็ยังนิยมชุบโรเดียมด้วยกันทั้งสิ้น
2. นิกเกิล (Nickel) เป็นโลหะที่มีความมันวาว สีขาวเงิน มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดออกซิเดชั่น และต้านทานการกัดกร่อนสูง การใช้งานโลหะนิกเกิลส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมและเหล็กกล้าผสม รวมถึงนำมาชุบเคลือบผิวเครื่องประดับด้วย เพราะสามารถกลบความหยาบของตัวเรือน หรือกลบตามดได้เป็นอย่างดี ลดงานในขั้นตอนการขัดเงาตัวเรือนได้มาก ทำให้งานผลิตเสร็จไว แต่ข้อเสียที่ร้ายแรงคือ นิกเกิลเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้ผิวหนัง ทำให้ผู้ที่สวมเครื่องประดับเกิดอาการผื่นคัน บวมแดง หรือเป็นแผลอักเสบได้
ดังนั้นเครื่องประดับราคาถูก ที่ผู้ขายมักแจ้งว่าชุบโรเดียม แต่ความจริงแล้วเป็นการชุบโรเดียมผสมนิกเกิล โดยมีโรเดียมเป็นส่วนผสมน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นสารนิกเกิลเกือบทั้งหมด เพราะต้องการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้สวมใส่จำนวนไม่น้อยเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง บางคนถึงขั้นเข้าใจผิดว่าแพ้โรเดียม แต่ความจริงแล้วเป็นการแพ้สารนิกเกิลที่ผสมลงไปในน้ำยาชุบโรเดียม
จากความอันตรายของสารนิกเกิลดังกล่าว ทำให้หลายประเทศออกกฎหมายห้ามนำเข้าเครื่องประดับที่มีสารนิกเกิลเป็นส่วนผสมโดยเด็ดขาด โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์จะต้องเป็น Nickel Free หรือ ปราศจากนิกเกิลเท่านั้น (แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้นิกเกิล)
ข้อสังเกตุในการเลือกซื้อเครื่องประดับชุบโรเดียม
กรณีที่ผู้ขายโฆษณาว่า “เครื่องประดับทำจากโรเดียม” ขอให้ตระหนักไว้ก่อนเลยว่า คำโฆษณานี้ไม่เป็นความจริง เพราะคุณสมบัติของโรเดียมจะมีความอ่อนตัวสูง ไม่สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับได้ แต่ผู้ขายบางรายพยายามทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่า ใช้โรเดียมเป็นวัสดุตัวเรือน แต่แท้ที่จริงแล้วเราใช้โรเดียมเป็นน้ำยาชุบเคลือบผิวเครื่องประดับเท่านั้น ดังนั้น หากเพื่อนๆ เจอคำโฆษณาเช่นนี้ ขอให้สอบถามกับผู้ขายให้แน่ใจว่าโลหะที่อยู่ภายใต้โรเดียมนั้นคืออะไรกันแน่
กรณีที่ผู้ขายโฆษณาว่า “เครื่องประดับชุบโรเดียมหนา 5 ไมครอน” ขอให้ตระหนักไว้ก่อนเลยว่า เป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรและน้ำยาที่สามารถชุบโรเดียมได้หนาถึง 5 ไมครอน การโฆษณาว่าชุบหนา 5 ไมครอน นั่นคือการชุบด้วยนิกเกิลหรือธาตุอื่นๆเพื่อรองพื้น กลบความหยาบของตัวเรือนและตามดก่อน แล้วจึงนำไปชุบโรเดียมเคลือบผิวนอกบางๆอีกทีหนึ่งเท่านั้น มิใช่การชุบโรเดียมล้วนๆหนา 5 ไมครอนอย่างแน่นอน
กรณีที่ผู้ขายโฆษณาว่า “เครื่องประดับเงินชุบโรเดียม” ข้อนี้มีความเป็นจริง แต่ขอให้เพื่อนๆ สอบถามรายละเอียด 3 ข้อนี้จากผู้ขายเพิ่มเติม เพราะมีผลต่อราคาและคุณภาพของเครื่องประดับด้วย
1) ชุบโรเดียมหนากี่ไมครอน ?
การชุบโรเดียมมีทั้งการชุบแบบรวดเร็ว (Flash Coat) ที่ให้ความหนา 0.05 – 0.1 ไมครอน ซึ่งช่วยให้เครื่องประดับมีความขาวแวววาว 2-3 เดือน แล้วจะหลุดลอกออกไป การชุบโรเดียมที่หนาขึ้นจะช่วยยืดเวลาให้จิวเวลรี่คงความเงางามยาวนานมากขึ้นไปด้วย ส่วนใหญ่ จิวเวลรี่คุณภาพสูงจำพวกแหวนหมั้น แหวนแต่งงาน นาฬิกา หรือจิวเวลรี่แบรนด์เนม จะนิยมชุบโรเดียมหนา 1.0 – 1.5 ไมครอน เพื่อให้เครื่องประดับคงความแวววาวสวยงามได้นานหลายปี
2) วัสดุตัวเรือนทำจากเงินแท้ 925 หรือไม่ ?
เครื่องประดับเงินแท้ หรือ เงิน 925 หรือ Sterling Sliver คือมาตรฐานของเครื่องประดับเงินคุณภาพดี คือมีปริมาณเนื้อเงินอยู่ที่ 92.5% ส่วนอีก 7.5% มักเป็นทองแดงและอัลลอย์ที่ผสมลงไปเพื่อให้เนื้อเงินมีความแข็งแรง ไม่อ่อนนิ่มง่าย ซึ่งโดยปกติหากตัวเรือนทำจากเงินแท้ 925 อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องชุบโรเดียมก็ได้ โดยเฉพาะสินค้าบางดีไซน์ที่ต้องการโชว์เนื้อเงินแท้ๆ แต่ถ้าตัวเรือนเป็นวัสดุอื่น เช่น เงินคุณภาพต่ำกว่า 925, ทองเหลือง หรือโลหะผสมอื่นๆ ก็ควรจะชุบโรเดียมให้หนาขึ้น (แต่ในความเป็นจริง หากผู้ผลิตเลือกใช้วัสดุเกรดต่ำทำวัสดุตัวเรือน ก็มักจะไม่ชุบโรเดียมหนา หากชุบหนา ก็เป็นการชุบที่ผสมนิกเกิลเพื่อลดต้นทุน และมักจะขายในตลาดล่าง ราคาหลักร้อยบาท)
Tip : โดยส่วนใหญ่สินค้าที่ทำจากเงิน 925 จะมีตราประทับบนตัวเรือนว่าเป็นเงิน 925 อยู่แล้ว หากไม่แน่ใจให้ลองนำแม่เหล็กมาทดสอบดูค่ะ ถ้าเป็นเงินแท้ 925 จะไม่ดูดติดกับแม่เหล็ก
3) ผสมสารนิกเกิลหรือไม่ ?
จากที่ได้อธิบายไปแล้วว่านิกเกิลมีผลทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีผิวหนังบอบบางแพ้ง่าย ควรสอบถามผู้ขายให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง (แต่ในความเป็นจริง ผู้ขายอาจไม่บอกความจริงเพราะกลัวจะขายไม่ได้) ผู้ซื้อควรพิจารณาความสมเหตุสมผลของราคาสินค้า หรือสอบถามเรื่องการรับประกันความพึงพอใจ ส่วนใหญ่ถ้ามีการรับประกันความพึงพอใจ ก็มักจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี การซื้อสินค้าไปสวมใส่ 2-3 วัน ก็จะทราบได้ทันทีว่ามีอาการแพ้หรือไม่ หากแพ้ก็ควรรีบติดต่อขอคืนสินค้าภายในช่วงเวลารับประกัน
นอกจากการชุบโรเดียมซึ่งให้สีเงินแวววาวแล้ว ในปัจจุบันยังมีการชุบแบบอื่นๆอีก เช่น ชุบทองคำ (Gold) และ ชุบพิ้งค์โกลด์ (Pink Gold / Rose Gold) ทำให้วัสดุตัวเรือนมีสีสันแตกต่างออกไป ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายขึ้น การชุบสีทองคำ หรือชุบสีพิ้งค์โกลด์ จะนิยมชุบหนาที่ 1.5 – 3.0 ไมครอน ถึงแม้วัสดุด้านในจะทำจากเงินแท้ 925 ก็ตาม เพราะสีที่ชุบภายนอกกับสีของตัวเรือนด้านใน เป็นคนละสีกัน ยิ่งชุบหนาก็จะช่วยให้ตัวเรือนมีสีเหลืองทอง หรือสีพิ้งค์โกลด์ ที่สวยแวววาวได้นานหลายปี การชุบหนาหรือชุบบางนั้น สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า หากชุบบาง สีทอง/สีพิ้งค์โกลด์ จะดูซีดๆ จางๆ ไม่สวยสดใส แต่ถ้าชุบหนา สีทอง/สีพิ้งค์โกลด์ จะสวยสุกปลั่งแวววาวมาก ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนหากนำ 2 ชิ้นมาเปรียบเทียบกัน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับเพื่อนๆ สามารถเลือกซื้อเครื่องประดับชุบโรเดียม เครื่องประดับชุบทองคำ และเครื่องประดับชุบพิ้งค์โกลด์ ได้อย่างผู้มีความรู้ ได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมกันนะคะ