“กำไรทอง” ต้อง “ทำเลทอง”
การครอบครองตลาดไม่ได้อาศัยแค่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น “ช่องทางการจัดจำหน่าย” เป็นอีกยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคได้เห็นและได้รู้จักสินค้ามากที่สุด โดยช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้านั้นทำได้หลายวิธี แต่สำหรับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับแล้ว ช่องทางการขายหลัก คือ การเปิดร้านค้าของตนเอง และแน่นอนหนึ่งในปัจจัยที่จะชี้ชะตายอดขายของร้านค้า คือ “ทำเล”
ดังคำกล่าวที่ว่า “ทำเลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ไม่ได้เป็นเพียงสำนวนเปรียบเปรย แต่เป็นสิ่งที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า สินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีตำแหน่งการขายต่างกัน ก็สร้างยอดขายที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นแบรนด์ดังๆ มักจะสร้างร้านค้าจำหน่ายในชุมชนใหญ่ๆ ที่มีคนหนาแน่น มีการจับจ่ายใช้สอยสูง หรือย่านการค้าสำคัญๆ เช่น สีลม เยาวราช บ้านหม้อ เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนมีราคาค่าเช่าที่แพงลิบลิ่ว แต่นอกจากการเปิดร้านค้าในทำเลทองแล้ว การที่แบรนด์สินค้าจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยังต้องมีการขยายร้านค้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด นั่นหมายถึงผู้ประกอบการต้องมีเงินทุนที่สูงมากอีกเช่นกัน เพราะการเปิดร้านค้าไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายในส่วนของการสร้างและตกแต่งร้าน แต่ยังต้องมีการจ้างพนักงาน การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการจัดทำบัญชีที่ต้องรัดกุมอีกด้วย
โดย ยูบิลลี่ คือ แบรนด์ที่ใช้ช่องทางการขายเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำธุรกิจ เพราะเป็นร้านค้าเพชรแรกๆ ที่มีการเปิดเคาน์เตอร์จำหน่าย มีการปรับรูปลักษณ์ของเคาน์เตอร์ให้ดูทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และยังลงทุนขยายช่องทางการขายในรูปแบบเคาน์เตอร์จำหน่ายเพชรอย่างต่อเนื่อง มีการขายสินค้าผ่านทาง Modern Trade โดยเลือกห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และพยายามขยายสาขาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการขยายร้านค้ามากถึง 78 สาขาแล้ว
ตัวอย่างแบรนด์สินค้าอื่นๆ ที่เจาะตลาดจากการขยายร้านค้า คือ UNIQLO โดยในช่วงหลังมานี้เริ่มมีการตั้งเป้าขยายตลาดในเอเชียอย่างจริงจัง โดยบริษัท Fast Retailing จำกัด บริษัทแม่ของ UNIQLO ได้ปักธงที่จะไต่อันดับขึ้นเป็นบริษัทจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ภายในปี 2563 รวมถึงการก้าวขึ้นสู่แบรนด์ชั้นนำอันดับ 1 ของเอเชีย จึงมีการตั้งเป้าขยายสาขาต่างๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 200 สาขาในทุกปี นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราพบสาขาร้าน UNIQLO บ่อยขึ้น และมีการพูดถึงแบรนด์ UNIQLO มากขึ้นด้วย
สำหรับแบรนด์ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย คงหนีไม่พ้น 7-Eleven ที่ใช้ยุทธศาสตร์หมากล้อมเมือง มีการเปิดสาขาทุกหัวระแหง ปัจจุบัน 7-Eleven มีสาขาไม่ต่ำกว่า 6,800 สาขา ทั่วประเทศแล้ว เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่เน้นการขยายสาขาทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นแหล่งช้อปปิ้งอันดับแรกๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไว้วางใจและนึกถึง
อย่างไรก็ตามด้วยการเปิดร้านค้ามีค่าใช้จ่ายที่สูง ผู้ประกอบการบางคนเลือกใช้วิธีการเช่าพื้นที่เล็กๆ หรือ kiosk ตามห้างสรรพสินค้าที่มีเนื้อที่ประมาณ 8 -10 ตารางเมตร แต่ราคาค่าเช่าพื้นที่ไม่ต่ำกว่าตารางเมตรละ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่รวมถึงการจ้างพนักงานขาย ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเลือกขายขาดหรือขายฝากกับห้างสรรพสินค้า ก็ต้องเสียค่าแรกเข้า (Entrance fee) ก่อนที่จะขายสินค้า และยังต้องถูกหักค่ารีเบทจากการขายของห้าง แถมห้างยังบวกกำไรของตนเองเข้าไปอีกประมาณ 30% สุดท้ายหากขายไม่ดี สินค้าไม่เป็นที่นิยม ทำยอดขายไม่ถึงเป้า หรือไม่มีการโฆษณาส่งเสริมการขายทางสื่อต่างๆ ที่ดีพอ ห้างก็จะคัดสินค้าเหล่านั้นออกไป
ด้านผู้ประกอบการที่เลือกจัดจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนหรือบริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ก็ยังมีข้อเสีย คือ ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาขายปลีกถึงผู้บริโภคได้ ผู้ทำการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคคือผู้กำหนดราคาขายปลายทาง
เรียกว่าไม่ว่าจะหันไปทางใด การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจแทบทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินทุนแทบทั้งสิ้น ขณะที่ผู้ทำธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ส่วนใหญ่ต่างเป็น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่านั้น ดูเหมือนว่าแค่การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดในประเทศก็ยากมากแล้ว ความหวังในการก้าวสู่เวทีโลกจึงช่างริบหรี่ยิ่งนัก… ฤาเราจะมาถึงทางตัน?
ฝ่าวิกฤต ด้วยธุรกิจออนไลน์
เราทราบกันดีว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและโซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ผู้คนส่วนใหญ่ใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูล ทำงาน แหล่งบันเทิง รวมทั้งยังสามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Internet Banking และเป็นตลาดช้อปปิ้งแห่งใหม่อีกด้วย การหมุนเวียนของโลกจากออฟไลน์ที่กำลังเข้าสู่ออนไลน์เช่นนี้ อาจเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยฝ่าวิกฤตธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะ “อินเทอร์เน็ต” เป็นเครื่องมือการตลาดที่ดีและมีต้นทุนที่ต่ำมาก เหมาะต่อการสร้างแบรนด์และการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย โดยธุรกิจออนไลน์มีข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีพนักงานขาย การโฆษณาบนโลกออนไลน์เมื่อเทียบกับสื่อหลักแล้วนับว่าถูกกว่ามาก ที่สำคัญผู้ประกอบการยังสามารถนำเสนอสินค้า ข้อมูล เอกลักษณ์ และประโยชน์ต่อลูกค้าได้โดยตรง ขณะเดียวกันก็ยังรับฟังข้อมูล ความคิดเห็นจากลูกค้าเพื่อมาปรับปรุงพัฒนาสินค้าและวางแผนการตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ธุรกิจออนไลน์ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดราคาปลายทางด้วยตนเอง แถมขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงและขายได้ทั่วโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ผลสำรวจบทบาทของโซเชียลมีเดีย ต่อการทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา พบว่า มีนักการตลาดใช้ “เฟซบุ๊ค” เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารทางธุรกิจสูงถึง 90% รองลงมาคือ ทวิตเตอร์ 53% ลิงค์อิน 47% และบล็อกกิ้ง 33% หลายบริษัทประสบความสำเร็จในการใช้โซเชียลมีเดียทำธุรกิจ ตัวอย่าง เช่น บริษัท ไอบีเอ็ม ที่รายงานว่ายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 400% ในไตรมาสแรกหลังจากทดลองใช้เครื่องมือจากโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการขาย
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการที่เข้ามาจะประสบความสำเร็จทั้งหมด เนื่องด้วยกระแสข้อมูลจำนวนมหาศาลและความไม่เข้าใจอย่างแท้จริงของผู้ประกอบการ ทำให้หลายคนคิดว่าการทำธุรกิจออนไลน์นั้นง่ายดาย ด้วยการสร้างเว็บไซต์ของตนเองขึ้นมาเท่านั้น บางคนเลือกใช้เว็บไซต์แบบสำเร็จ หรือว่าจ้างผู้ที่มีความรู้มาออกแบบหน้าเว็บไซต์อย่างสวยงาม แต่กลับไม่มีการโปรโมทเว็บไซต์ ขาดการวางแผนการตลาด ไม่มีการพัฒนา อัพเดทข้อมูล หรือสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเว็บไซต์กลายเป็นเพียงหน้าต่างที่บ่งบอกถึงชื่อสินค้าและสถานที่ติดต่อเท่านั้น ไม่มีใครเหลียวแล และต้องยุติไปในที่สุด
ถึงวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกยุคดิจิตอล “ธุรกิจออนไลน์” ถือเป็นทางเลือกและเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่โดดเด่นสำหรับนักการตลาด แต่อย่าลืมว่าการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์นั้น ผู้ประกอบการและผู้ค้าแทบไม่ได้เจอกัน ปัจจัยการทำธุรกิจจึงไม่ได้อยู่แค่สินค้า ราคา โฆษณา และประชาสัมพันธ์ หากแต่หัวใจสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และการใส่ใจลูกค้าอย่างจริงใจ จึงจะครองใจลูกค้าได้สำเร็จ หากแต่การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ยังมีองค์ประกอบทางเทคนิคและกลยุทธ์อีกมากมาย ที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อให้ “โลกออนไลน์” เป็นเครื่องมือแห่ง “ความสำเร็จ” ที่นำมาใช้ได้อย่างเป็น “รูปธรรม”
————————————————————–
รูปภาพจาก
http://www.astrologycreative.com/images/gems%202.jpg
http://www.corehoononline.com/images/stories/1-10-11/JBL.gif
http://4.bp.blogspot.com/-RnuqDii86Zw/UWAqwDgr9vI/AAAAAAAABU4/4UKquxwUu_w/s640/How+to+Make+
Your+Brand+Memorable+in+Social+Media.jpg
http://www.empowernetwork.com/alaska303/files/2013/02/social-media-branding.jpg