“บุษราคัม” อัญมณีสีเหลืองอำพันที่ใครหลายคนหลงไหลนั้น หากแต่คนไทยสมัยก่อนเข้าใจผิดเรียก โทแพซสีเหลือง (Yellow Topaz) ว่าบุษราคัม เพราะว่ามีสีเหลืองเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้ว “บุษราคัม” คือแร่คอรันดัมชนิดสีเหลือง หรือที่เรียกว่า แซฟไฟร์สีเหลือง (Yellow Sapphire) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับทับทิม (Ruby) และไพลิน (Blue Sapphire) มีค่าความแข็งเท่ากับ 9 โมห์ ส่วนโทแพซมีค่าความแข็งที่ 8 โมห์ โทแพซพบหาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่า
นอกจากโทแพซสีเหลืองแล้ว ยังมีอัญมณีสีเหลืองอีกหลายชนิดที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นบุษราคัม ได้แก่ ซิทริน (Citrine) ซึ่งเป็นแร่ควอตซ์สีเหลือง, แบริลสีเหลือง (Yellow Beryl), การ์เนตสีเหลือง (Yellow Garnet) หรือ คิวบิกเซอร์โคเนียสีเหลือง (Yellow CZ) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเลือกซื้อจากผู้ขายที่ไว้ใจได้ หรือขอให้ผู้ขายนำพลอยไปออกใบรับรองกับหน่วยงานที่ได้มาตรฐานก่อนตัดสินใจซื้อ
โดยส่วนมาก “บุษราคัม” จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผาเพื่อให้มีสีสวยขึ้น และเนื่องจากบุษราคัมสีเหลืองตามธรรมชาตินั้นแทบจะหาไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องนำไพลินสีเข้ม หรือแซฟไฟร์สีเขียว ไปผ่านกระบวนการเผาร่วมกับเบริลเลียม ทำให้ได้บุษราคัมสีเหลืองสวยงาม สำหรับประเทศไทยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ส่วนบุษราคัมจากแหล่งอื่นๆในโลก ได้แก่ ศรีลังกา มาดากัสการ์ แทนซาเนีย และออสเตรเลีย
ชื่อทางการค้าของบุษราคัมมีหลายชื่อ มักถูกเรียกตามความเข้มของสีพลอย เช่น “พลอยน้ำบุษร์” ใช้เรียกบุษราคัมสีน้ำชาแก่ๆ สีดอกจำปี หรือสีเหล้าแม่โขง ซึ่งเป็นสีที่นิยมมากและมีราคาแพง ส่วน “บุษร์น้ำทอง” ใช้เรียกบุษราคัมที่มีสีเหลืองทอง “บุษร์น้ำแตง” ใช้เรียกบุษราคัมที่มีสีเขียวปนในเนื้อ เป็นต้น
บุษราคัมที่ดีต้องมีเนื้อใสสะอาด สีสด ไม่เข้มไม่อ่อนจนเกินไป ปัจจุบันบุษราคัมที่ซื้อขายกันในท้องตลาดมักมาจาก 2 แหล่ง คือ บุษราคัมจากจันทบุรี มักมีสีเหลืองอมน้ำตาล คล้ายสีเหล้าแม่โขง เป็นที่นิยมในหมู่คนไทย อีกแหล่งคือ บุษราคัมจากศรีลังกาหรือซีลอน จะมีสีเหลืองอมส้ม หรือสีเหลืองทอง ซึ่งมีราคาแพงเช่นเดียวกัน
การดูแลรักษาบุษราคัมนั้นไม่ยุ่งยาก หากเป็นพลอยร่วงที่ยังไม่ขึ้นตัวเรือน ให้เก็บแยกเม็ด ป้องกันการขูดขีดกันเองจนเป็นรอย หากเป็นเครื่องประดับแล้ว ก็ต้องเก็บแยกจากเครื่องประดับชิ้นอื่นๆ โดยเฉพาะเครื่องประดับเพชร เพราะเพชรสามารถขูดขีดบุษราคัมเป็นรอยได้ การทำความสะอาด ให้ใช้น้ำยาล้างเครื่องประดับหรือสบู่เหลวอ่อนๆ ผสมน้ำเจือจาง เช็ดเบาๆ ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดตามซอกมุม จากนั้นใช้ผ้านุ่มซับ แล้วผึ่งลมให้แห้ง
———————————————————————
ขอบคุณข้อมูลจาก
รูปภาพประกอบจาก http://swatigems.com/products/?p=27 / www.tradeindia.com