ถ้าเอ่ยถึงคำว่า “ทองเนื้อเก้า” ตอนนี้ คงไม่มีใครคิดเป็นอื่น นอกเสียจาก “นางลำยอง” กับ “ไอ้วัน” ละครชื่อดังจากบทประพันธ์ของ “โบตั๋น” ที่กำลังฉายทางช่อง 3 ซึ่งกำลังฮิตติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองขณะนี้
ทองเนื้อเก้า ในบทประพันธ์นั้นได้นิยามถึง “คุณงามความดี” ของ “วันเฉลิม” ลูกชายของลำยอง เด็กกตัญญู ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูอย่างไร ก็ยังคงคุณงามความดีได้แบบไร้ที่ติ เปรียบดัง “ทองเนื้อเก้า” ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น
“ทองคำ” หรือ “ทอง” เป็นธาตุลำดับที่ 79 มีสัญลักษณ์ Au ทองคำเป็นโลหะแข็งสีเหลือง เป็นธาตุอิสระในธรรมชาติ ที่ไม่ไวต่อปฏิกิริยา สามารถทนต่อการขึ้นสนิมได้ดีมาก จุดเด่นของทองคำอยู่ที่สีเหลืองสว่างสดใส มีประกายมันวาวสะดุดตา (Brightness) เนื้อแน่น ไม่หมอง ไม่เป็นคราบไคลง่ายเหมือนวัตถุชนิดอื่นๆ จึงทำให้เป็นที่หมายปองของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการนำมาตีมูลค่าสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับวงการเครื่องประดับ
สำหรับคำว่า “ทองเนื้อเก้า” นั้น แท้จริงแล้ว คือ ชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงคุณภาพ ความบริสุทธิ์ของทองคำในอดีต อธิบายง่ายๆ คือ ปัจจุบันหากจะบอกว่าทองคำเส้นหนึ่งมีความบริสุทธิ์มากแค่ไหน หรือทองคุณภาพดีมากแค่ไหนนั้น จะใช้การวัดความบริสุทธิ์ของเนื้อทองเป็นกะรัต (Karat) หรือที่เรียกว่า “ทองเค”
โดยทองคำบริสุทธิ์ หมายถึง ทองคำที่มีเนื้อทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น หรือเรียกกันว่าทองร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีเนื้อทองบริสุทธิ์ 24 กะรัต หรือ 24 K แต่ถ้าบอกว่าทอง 14 กะรัต หรือ 14 K หมายถึง ทองคำที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์อยู่ 14 ส่วน ที่เหลืออีก 10 ส่วน เป็นทองที่เจือปนโลหะอื่นๆ ดังนั้นความบริสุทธิ์และคุณภาพของทองก็ย่อมน้อยกว่าทองคำ 24 K
แต่ในอดีต ไม่ได้มีการวัดความบริสุทธิ์ของเนื้อทองเป็นกะรัต แต่จะใช้การ “ตั้งพิกัดราคา” ตามปริมาณของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในทองรูปพรรณน้ำหนัก 1 บาท ซึ่งตามหลักฐานที่ปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีประกาศมาตรฐานการเรียกชื่อทองคำ ซึ่งมีตั้งแต่ทองเนื้อสี่จนถึงทองเนื้อเก้า ดังนี้
ทองเนื้อสี่ หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 4 บาท
ทองเนื้อห้า หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 5 บาท
ทองเนื้อหก หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 6 บาท
ทองเนื้อเจ็ด หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 7 บาท
ทองเนื้อแปด หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 8 บาท
ทองเนื้อเก้า หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 9 บาท
ดังนั้นจะเห็นว่า ทองเนื้อเก้า เป็นทองคำที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์มากที่สุด และมีราคาแพงที่สุด
“ทองเนื้อเก้า” ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นทองคำที่มีเนื้อบริสุทธิ์ใกล้เคียงกับทองคำบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง ไม่มีแร่ธาตุอื่นเจือปน กล่าวกันว่าใช้เพียงความร้อนเป่าเอาเศษดินออกโดยไม่ต้องใช้กระบวนการถลุงก็จะได้ทองเนื้อบริสุทธิ์ สีเหลืองอร่าม เนื้อจะสุกปลั่ง สีเหลืองอมแดง เป็นทองธรรมชาติ ซึ่งเรารู้จักทองคำชนิดนี้ในหลายๆ ชื่อ เช่น “ทองชมพูนุช” “ทองนพคุณ” และ “ทองเนื้อแท้” เป็นต้น
โดยแหล่ง “ทองเนื้อเก้า” ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีแหล่งที่มาจากเมืองหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็คือ ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จึงเรียกทองเนื้อเก้านี้ว่า ทองบางสะพาน จนเป็นที่มาของคำขวัญประจำจังหวัดประจวบฯ ที่ว่า “เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสด หาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ” นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เครื่องประดับทองที่สวมใส่กันอยู่ มักจะไม่ใช่ทองที่มีความบริสุทธิ์มากถึง 99% เนื่องจากเนื้อทองมีความอ่อนนิ่มมากเกินไป ทำให้ต้องมีการเจือโลหะลงไปเล็กน้อยเพื่อให้ทองมีความแข็งตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ใช้ในประเทศไทย คือ 96.5 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบเป็นกะรัตแล้ว ประมาณ 23.16 กะรัต โดยสีทองที่ได้จะมีสีเหลืองเข้มกำลังดี และมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับการนำมาทำสร้อยหรือแหวน สำหรับโลหะที่นำมาใช้ผสมมักจะแตกต่างไปตามสูตรของผู้ผลิตทองรูปพรรณแต่ละราย เช่น ผสมทองแดง จะได้สีของทองออกมาอมแดง หรือหากผสมเงิน จะได้สีออกเหลืองขาว เป็นต้น
พอจะได้ความรู้เกี่ยวกับ “ทองเนื้อเก้า” กันไปบ้างแล้ว… หากครั้งหน้า มีใครมาถามถึง “ทองเนื้อเก้า” คำตอบก็คงไม่ใช่แค่ “อ๋อ! ไอ้วัน” ลูกกตัญญูของ “นางลำยอง” เท่านั้นแล้ว